ต่อมลูกหมากโต อันตรายในชายสูงวัยที่ไม่ควรมองข้าม

ต่อมลูกหมากโต ผู้สูงวัย

รู้ไหมชายไทย 50+ เสี่ยงเป็นต่อมลูกหมากโต กันทุกคน

ต่อมลูกหมากโต (BPH – Benign Prostatic Hyperplasia) คือโรคที่เกิดขึ้นในเพศชาย โดยเฉพาะชายสูงวัย ซึ่งพบว่าเป็นโรคต่อมลูกหมากถึง 80% รองมาคือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 18% และโรคต่อมลูกหมากอักเสบ 2% การที่ ต่อมลูกหมากโต ขึ้นจนผิดปกติจะทำให้รบกวนระบบทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิด ปัสสาวะขัด และอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้

ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ สำคัญที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้

ต่อมลูกหมาก คือต่อมที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีรูปร่างคล้ายผลวอลนัท อยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะเพศชาย ด้านหน้าของทวารหนัก และมีท่อปัสสาวะผ่านตรงกลางต่อม ต่อมลูกหมาก มีหน้าที่สร้างของเหลวที่คอยหล่อเลี้ยงอสุจิ ถ้าต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้นนอกจากที่จะทำให้ทางเดินปัสสาวะติดขัดแล้ว ยังทำให้อสุจิที่ถูกหลั่งออกมาไหลกลับไปในกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อ กระเพาะปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะ และไตได้ในอนาคต

นอกจากความสัมพันธ์ของอายุ ในทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ว่า ต่อมลูกหมากโต มีสาเหตุมาจากอะไร แต่คาดว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนในเพศชายที่ผิดปกติไปตามอายุที่มากขึ้น ทำให้พบได้มากในชายสูงวัย ยิ่งถ้ามีชีวิตยืนยาวถึง 80-90 ปี ผู้ชายในวัยนี้จะมี ต่อมลูกหมากโต กันทั้งหมด ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่มีวิธีป้องกันที่การันตีการเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นคุณผู้ชายควร หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที เพราะโรค ต่อมลูกหมากโต นั้นความรุนแรงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีอาการน้อยมาก เช่น ความแรงของปัสสาวะลดลง และสามารถรักษาหายได้ด้วยการรับประทานยา แต่หากปล่อยไว้ และยิ่งอายุมากขึ้น ก็อาจส่งผลรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ ปัสสาวะไม่ออก ทางเดินปัสสาวะอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไตเสื่อม หรือกระเพาะปัสสาวะเสื่อม ปัสสาวะเป็นเลือดได้

7 สัญญาณของอาการต่อมลูกหมากโต ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ 

ต่อมลูกหมากโต อาการ

  • ปวดปัสสาวะรุนแรงมาก
  • ปัสสาวะติดขัด
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือต้องเบ่งปัสสาวะจนกว่าจะออก
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
  • ปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง สะดุดเป็นช่วง ๆ มีปัสสาวะหยุดเมื่อใกล้จะสุด

การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

ตรวจต่อมลูกหมาก

  • การซักประวัติตรวจสอบอาการเพื่อประเมินความรุนแรง
  • ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจวัดความแรงของสายปัสสาวะ
  • อัลตร้าซาวนด์ดูขนาดความเปลี่ยนแปลงของต่อมลูกหมาก
  • ตรวจเช็คความผิดปกติ ของต่อมลูกหมากโดยการคลำผ่านทางทวารหนัก

ข้อควรระวังเมื่อเป็นต่อมลูกหมากโต

  • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้เป็นมากขึ้น และการกลั้นปัสสาวะนานเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเสียหาย
  • ควรปัสสาวะก่อนเข้านอน และไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนเข้านอน
  • ฝึกการเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องน้ำ ทุก ๆ 4-6 ชม. เป็นการฝึกปัสสาวะให้เป็นเวลา ซึ่งช่วยได้มากในกลุ่มผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อย และไม่สามารถกลั้นได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ปัสสาวะเยอะ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มี คาเฟอีน หรือลดปริมาณลงเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองที่ กระเพาะ ปัสสาวะ
  • ควรออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 30-60 นาทีต่อวันทำให้อาการดีขึ้น
  • จำกัดการกินยาลดน้ำมูก หรือ ยาแก้แพ้ เพราะยาเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะที่ควบคุมการไหลของปัสสาวะหดตัว จะทำให้ปัสสาวะลำบาก ควรทำโดยปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรคต่อมลูกหมากโต
  • ไม่ควรขี่หรือนั่งจักรยาน หรือกิจกรรมอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก และอาจมีอาการอื่น ๆ
  • หากเป็นไปได้ ควรมีกิจกรรมร่วมเพศ การมีน้ำเชื้อออกมาบ้างจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม

10 อาหารแนะนำช่วยป้องกัน ไม่ให้ต่อมลูกหมากโต

อาหารป้องกัน ต่อมลูกหมากโต

1.ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อย่าง สตรอเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่  ราสเบอร์รี่ หรือเบอร์รี่ไทย เช่น ลูกหม่อน และลูกหว้า เป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก ช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของภาวะต่อมลูกหมากโต และเนื้องอกชนิดต่าง ๆ

2.แซลมอน

ปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีไขมันที่ดีต่อสุขภาพ มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดการอักเสบ ต้านมะเร็ง ได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาพบว่าการรับประทานปลาแซลมอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการต่อมลูกหมากโต และชะลอการพัฒนาของเนื้องอกต่อมลูกหมากไปเป็นมะเร็ง หรือหยุดการลุกลามของโรคได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปลาซาร์ดีน และปลาเทราต์ ซึ่งก็มีโอเมก้า 3 ด้วยเช่นกัน

3.มะเขือเทศ

ในมะเขือเทศมีสารไลโคปีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีประโยชน์ต่อเซลล์ต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ปรุงสุก เช่น น้ำมะเขือเทศ ซุปมะเขือเทศ หรือ มะเขือเทศย่าง เพราะทำให้ร่างกายได้รับไลโคปีนมากกว่าการรับประทานมะเขือเทศสด จากการศึกษาของประเทศบราซิล ผู้ที่บริโภคมะเขือเทศสด 50 กรัม/วัน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่กินมะเขือเทศสุก เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ และพิซซ่าที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศ ที่ลดความเสี่ยงได้ถึง 35%

4.บร็อคโคลี่และผักตระกูลกะหล่ำ

ผักตระกูลกะหล่ำ เช่นกะหล่ำดอก กะหล่ำดาว และกะหล่ำปลีมีสารซัลโฟราเฟน (Sunforaphane) มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง และช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษของร่างกาย มีการศึกษาว่าการกินบร็อคโคลี่มากกว่าสัปดาห์ละครั้ง สามารถลดโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะ 3 และ 4 ได้ถึง 45%

**ไม่ควร นึ่ง หรือผัดบร็อคโคลี่ เกิน  5 นาที เพราะจะทำให้คุณสมบัติในการต้านมะเร็งลดลง **

5.ถั่ว

มีซีลีเนียม และสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุ สำคัญต่อการทำงานของต่อมลูกหมาก และช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนี้ในหอยนางรม และอาหารทะเลอื่น ก็มีสังกะสีมากเช่นกัน

6.ชาเขียว

ชาเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า แคทีชิน (Catechins) มีคุณสมบัติในการทำลายแบคทีเรีย และไวรัสบางชนิด เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายเพื่อต่อสู้กับมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก และลดความเสี่ยงของความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 3 แก้ว

7.เห็ด

ช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเห็ดหอม  ซึ่งมีเลนติแนน (Lentinan) ที่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพ ในการยับยั้ง หรือป้องกันการเติบโตของเซลล์เนื้องอกและมะเร็งได้ดี และยังมีเห็ดอื่นๆ เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหลินจือ และเห็ดไมตาเกะ ยังมีสารเออร์โกไธโอนีน (Ergothioneine) หรือสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกาย รวมถึงต่อมลูกหมากไม่ให้เกิดความผิดปกติได้

8.ทับทิม

ในทับทิมมีสารต้านอนุมูลอิสระ และเอลลาจิแทนนิน (Ellagitannin) ที่ช่วยในการบำรุงต่อมลูกหมาก และชะลอการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้

9.เมล็ดฟักทอง

น้ำมันจากเมล็ดฟักทอง มีไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนเพศชายที่ทำให้ต่อมลูกหมากทำงานได้ตามปกติ ช่วยป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากทำงานมากเกินไป ในน้ำมันเมล็ดฟักทอง ยังมีแคโรทีนอยด์ และกรดไขมัน โอเมก้า 3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

10.ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน ช่วยในการต่อสู้กับการอักเสบและ โรคหอบหืด และยังมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง รวมถึงความสามารถต่อสู้กับมะเร็งต่อมลูกหมาก การนำขมิ้นชันมาปรุงกับผักตระกูลกะหล่ำ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้อย่างดี

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ช่วยลดเสี่ยงต่อมลูกหมากโต 

อาหารเสี่ยง ต่อมลูกหมากโต

1.เนื้อแดง

มีงานวิจัยที่พบว่าการรับประทานเนื้อแดง เช่นเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ มาก ๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และเพิ่มความเสี่ยงภาวะต่อมลูกหมากโต โดยเฉพาะ อาหาร ปิ้งย่าง หมูกระทะ หมูย่างปรุงรส

2.ผลิตภัณฑ์นม

การบริโภคผลิตภัณฑ์ นม เนย ชีส เป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงภาวะต่อมลูกหมากโต

3.โซเดียม

การบริโภคเกลือมาก ทำให้ทางเดินปัสสาวะทำงานหนัก และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะต่อมลูกหมากโต นอกจากเกลือแล้วยังมีโซเดียมที่แฝง มาในอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป เช่น  ผักดอง เต้าเจี้ยว ไส้กรอก แฮม หมูยอ

 

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิด ต่อมลูกหมากโต  ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และหมั่นสังเกต ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ อาการถ่ายปัสสาวะลำบากนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็ได้ เพราะมีอาการที่ใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น หากมีอาการปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการอื่น ที่เกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเพื่อความแน่ใจและเตรียมพร้อมรักษา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.